แอร์รถไม่เย็น แอร์เสีย แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง ลมที่ออกมาก็ไม่มีความเย็น หรือเย็นไม่ฉ่ำ ถ้าน้ำยาแอร์หมดดูยังไง อากาศก็ร้อนทำไงดี อาการทั้งหลายเหล่านี้ เกิดได้กับรถทุกคันยิ่งรถที่ใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน ขาดการตรวจเช็คดูแลรักษา  สาเหตุมีดังต่อไปนี้ครับ


1.น้ำยาแอร์

น้ำยาแอร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเย็นภายในห้องโดยสาร ถ้าน้ำยาแอร์เกิดการซึมเพียงเล็กน้อยความเย็นก็ลดลงไปบ้าง สามารถนำรถไปให้ช่างเติมน้ำยาแอร์ก็จะกลับมาเย็นเหมือนเดิม แต่ถ้าน้ำยาแอร์เกิดรั่วเยอะจนทำให้แอร์รถไม่เย็นตอนรถติดมีแต่ลมออกมา อาการนี้ควรให้ช่างตรวจหาจุดรั่วแล้วซ่อมแซมเสียก่อน ควรเติมน้ำยาแอร์ให้ตรงกับรุ่นรถด้วยนะครับ

1.1 ดูน้ำยาที่ตาแมวแอร์

วิธีดูตาแมวว่าน้ำยาแอร์พร่อง หรือขาดมากน้อยแค่ไหน เพียงแค่เราสตาร์ทเครื่องยนต์พร้อมเปิดแอร์เปิดน้ำยาแอร์ (ปุ่มAC ให้คอมทำงาน) แล้วมาสังเกตุที่ตาแมว ถ้ามีฟองอากาศสีขาวๆเล็กๆไหลผ่านแสดงว่าน้ำยาแอร์ขาดมาก ความเย็นลดลง ควรให้ช่างเติมน้ำยาแอร์ พร้อมกับหาจุดรั่วซึม ถ้ามีฟองอากาศขนาดใหญ่สลับกับไม่มีฟอง แสดงว่าน้ำยาแอร์ขาดไม่มาก ถ้าความเย็นยังเป็นปกติก็ใช้ต่อได้ แต่ถ้าสังเกตุที่ตาแมวแล้ว ไม่มีฟองอากาศเลยแสดงว่าน้ำยาแอร์ยังเต็มอยู่ ไม่มีจุดที่รั่วซึม แต่สำหรับรถรุ่นใหม่ๆบางรุ่นจะไม่มีตาแมวให้ดูแนะนำว่าหากเริ่มรู้สึกว่าความเย็นเริ่มลดลง ควรให้ช่างแอร์ตรวจสอบจะดีที่สุด

2.ตู้แอร์

ตู้แอร์และสายท่อแอร์ ตามขัอต่อต่างๆ เป็นระบบปิดจึงต้องไม่มีการรั่วซึมของน้ำยาแอร์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ค่าแรงดันของน้ำยาแอร์ตก จนทำให้แอร์รถไม่เย็นได้การตรวจสอบเบื้องต้นนั้นง่ายนิดเดียว เพียงนำฟองน้ำและชมพูผสมน้ำเล็กน้อยทำให้เกิดฟอง ทาตามข้อต่อของระบบแอร์ ถ้ามีการรั่วซึมจะเห็นว่ามีฟองอากาศดันขึ้นมา แสดงว่าอาจจะขันไม่แน่น ควรขันให้แน่นทันที หากตรวจพบว่าการรั่วซึมนั้นเกิดจากตู้คอยล์เย็นหรือท่อแอร์ จุดนี้แนะนำว่าให้ช่างที่ชำนาญเปลี่ยนจะดีที่สุด

3.แผงคอยล์ร้อน

แผงคอยล์ร้อนทำหน้าที่ระบายความร้อนจะมีพัดลมเป็นตัวช่วยระบาย ถ้าพัดลมเกิดการชำรุดเสียหาย ไม่หมุน แผงคอยล์ร้อนสกปรก ทำให้ระบายความร้อนทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้น้ำยาแอร์ที่ส่งเข้าไปคอยล์เย็นมีอุณหภูมิสูง ทำให้แอร์รถไม่เย็นได้
การตรวจสอบเบื้องต้นคือติดเครื่องยนต์ เปิดฝากระโปรงรถแล้วสังเกตุดูว่าขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน พัดลมตรงแผงคอยล์ร้อนทำงานเป็นปกติหรือไม่ หากมีอาการหมุนช้า มีเสียงดัง หรือไม่ทำงาน ควรเปลี่ยนทันที แต่ถ้าหากตรวจสอบดูแล้วเห็นว่าแผงคอยล์ร้อนมีสิ่งสกปรกอุดตันอยู่ ก็ทำความสะอาดเพื่อให้ระบายความร้อนได้เป็นปกติ

4.คอมเพรสเซอร์

ในคอมเพรสเซอร์จะมีลูกสูบ หากลูกสูบหลวมทำงานไม่สมบูรณ์ ไม่มีแรงอัดจนทำให้แรงดันน้ำยาแอร์ที่ออกมาจากคอมเพรสเซอร์มีน้อย ฉีดเข้าคอยล์เย็นไม่เพียงพอ ทำให้แอร์รถไม่เย็นได้ สังเกตุได้จากการติดเครื่องรถยนต์แล้วเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวไม่เย็น มีเสียงดังที่คอมเพรสเซอร์ แต่หากเร่งเครื่องยนต์แล้วเกิดความเย็นที่ต่อเนื่องแสดงว่าลูกสูบเกิดการหลวมหรือเสียหายไปแล้ว แนะนำว่าควรเปลี่ยนลูกสูบทันที แต่ควรเทียบราคาให้ดีเพราะบางทีราคาลูกสูบนั้นอาจจะพอๆกับราคาคอมเพรสเซอร์ ที่สำคัญควรหาร้านที่น่าเชื่อถือด้วย

5.ชุดวาล์ว

การเสื่อมสภาพของชุดวาล์ว และดรายเออร์อุดตัน จนทำให้แรงดันน้ำยาแอร์ที่ออกจากคอมเพรสเซอร์ไหลผ่านไม่สะดวก ทำให้ความเย็นภายในห้องโดยสารเย็นเป็นช่วงๆ หรือไม่มีความเย็นเลย สามารถตรวจเช็คได้จากการติดเครื่องยนต์แล้วเปิดแอร์ พร้อมกับเร่งเครื่องยนต์ หากมีความเย็นออกมาทันที แสดงว่าชุดวาล์ว และดรายเออร์อุดตันแล้ว ควรเปลี่ยนทันที

6.คลัตซ์คอมเพรสเซอร์

อาการคลัตซ์คอมเพรสเซอร์ จับไม่สนิทหรือคลัตซ์ลื่น ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สม่ำเสมอ ความเย็นไม่คงที่ เย็นบ้าง ไม่เย็นบ้าง ทำให้กระแสไฟที่ส่งไปยังคลัตซ์แม่เหล็กมีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอที่จะทำให้คลัตซ์คอมเพรสเซอร์ติดเข้ากับมูลเลย์ได้ จนเกิดการฟรี ควรหาช่างทำการตรวจสอบปรับแต่งหน้าคลัตซ์ให้เรียบ พร้อมกับตั้งระยะคลัตซ์ใหม่

7.สายพานคอมเพรสเซอร์

เวลาที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน แล้วพบว่าสายพานนั้นเกิดหย่อนจนเกินไป ควรปรับสายพานให้ตึงขึ้น หากพบว่าสภาพของสายพานมีรอยแตกรายหรือฉีกขาดควรเปลี่ยนทันที เพราะสายพานจะทำหน้าที่รับกำลังจากเครื่องยนต์ เพื่อฉุดให้คอมเพรสเซอร์หมุน

8.การใช้น้ำยาแอร์ผิดประเภท


รถแต่ละรุ่นนั้นการใช้น้ำยาแอร์ก็แตกต่างกันไป ถ้าไม่ระวังหรือช่างเกิดความผิดพลาดเติมน้ำยาแอร์ผิดประเภทให้เรามานั้น จะทำให้แอร์รถไม่เย็น ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ความดันในระบบแอร์รถยนต์เพิ่มมากขึ้น หรืออาจเกิดควาเสียหายรุนแรงได้

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า