อ.เชียงของ จ.เชียงราย นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาเช่นกัน ทางอำเภอจึงได้ถอดบทเรียนปีที่ผ่านมา ชูวิสัยทัศน์ “คนเชียงของร่วมใจ ปลอดภัยไข้เลือดออก” รุกสร้างความตระหนักทุกภาคส่วน บ้าน วัด โรงเรียนปลูกจิตสำนึกเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมป้องกันกำจัดแหล่ง “ลูกน้ำยุงลาย” พาหะของไข้เลือดออก ทุกหมู่บ้านตั้งเป้าหมาย ผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องเป็น 0 ตลอดปี 2563 ผลปรากฏผ่านมา 5 เดือน ยังไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแม้แต่รายเดียว
ต้นปี 2563 จึงได้จัดประชุมร่วมกันระหว่างสาธารณสุขอำเภอ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ถอดบทเรียนปัญหาอุปสรรคจากปีที่ผ่านมา

พบว่าการสำรวจลูกน้ำยุงลายส่วนใหญ่เป็นภาระหน้าที่ของ อสม. ประชาชนยังไม่ค่อยตระหนักรู้ร่วมรับผิดชอบในการป้องกันไข้เลือดออก และดูแลความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบ้านเรือนของตัวเองเท่าที่ควร
ขณะที่ แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย มีมากที่ วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ โรงแรม รีสอร์ต และ บ้านเรือนประชาชน
จึงได้กำหนดเป้าหมายเชิงวิสัยทัศน์ “คนเชียงของร่วมใจ ปลอดภัยไข้เลือดออก” โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันให้ อ.เชียงของ มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็น 0 ตลอดปี 2563 เน้นการปรับบทบาทของทุกภาคส่วน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชน ร่วมกันป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นระบบ
นอกจากนั้นยังเน้นการใช้หลักการ “บวร บ้าน วัด โรงเรียน” โดยส่งเสริมให้ กลุ่มเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันไข้เลือดออกสำรวจลูกน้ำยุงลายร่วมกับ อสม. อย่างจริงจัง ในลักษณะของ “อสม.น้อย” ถือเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์อันดีงามนอกห้องเรียนอย่างมีนัยสำคัญ

รวมทั้งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติในวันข้างหน้า
สำหรับข้อกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกประกอบด้วยการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้การป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนมีหน้าที่ทำความสะอาดดูแลบ้านเรือนตนเอง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สำรวจและทำลายลูกน้ำยุงลายภายในบ้านเรือนเป็นประจำทุกวันศุกร์
อสม. มีหน้าที่ตรวจสอบแนะนำการทำความสะอาดบ้านเรือน สำรวจและทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายในเขตพื้นที่รับผิดชอบทุกหลังคาเรือน แล้วทำรายงานส่ง รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) กำกับดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานของ อสม. โดยต้องประกาศเสียงตามสายให้ประชาชนทำลายลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ก่อนที่ อสม. จะไปตรวจสอบ

รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล มีหน้าที่คอยประสานงานเพื่อร่วมวางแผนในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. และรายงานผลการดำเนินงานให้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เพื่อรายงาน นายอำเภอ ทราบ
สถานศึกษา มีหน้าที่นำเด็กนักเรียนร่วมรณรงค์ป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ทั้งในโรงเรียนและในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งทำความสะอาดในบริเวณโรงเรียน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกวันศุกร์
วัด มีหน้าที่ในการทำความสะอาดในบริเวณพื้นที่ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกวันศุกร์
ส่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรด้านการควบคุมโรคไข้เลือดออก รวมทั้งออกรถประชาสัมพันธ์ จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์มอบให้ อสม. เดินเคาะประตูบ้านแนะนำประชาชนทุกครัวเรือน
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีหน้าที่ประสานงาน วางแผนงานในระดับอำเภอ จัดทำระบบรายงานข้อมูลสถานการณ์อย่างชัดเจน จัดประชุมติดตามการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนเป็นประจำทุกเดือน
ทุกหมู่บ้านต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งมาตรการทางสังคมอื่นๆ อาทิการประกาศเสียงตามสายเพื่อเป็นการตักเตือน การติดธงสีหน้าบ้าน
“เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ผมจะดำเนินการ ตรวจการบ้าน ติดตามงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน คนเชียงของทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง” นายทัศนัย กล่าวถึงความสำเร็จ.

ภาพ/ข่าว www.thairath.co.th

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า