วันนี้แล้วคนไทยจะได้ชม “สุริยุปราคาบางส่วน” แบบวงแหวน เงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ ใน “วันครีษมายัน” กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี เกือบ 13 ชั่วโมง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุคนไทยเห็นสุริยคราสได้ไม่เต็มดวง ช่วงเวลา 13.00 - 16.10 น. โดยดวงอาทิตย์เว้าแหว่งที่สุดในเวลา 14.49 น. ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยดวงอาทิตย์ถูกบดบังถึง 63 เปอร์เซ็นต์ ย้ำถ้าพลาดต้องรออีก 7 ปี ด้านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ระบุแม้ไทยไม่โดนคราสเต็มๆ แต่ต้องระวังเหตุร้าย ความรุนแรง เตือนการมีสติ ปัญญา ความกล้าหาญ เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจกันเท่านั้น จะทำให้ผ่านสถานการณ์ร้ายๆไปได้
เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่คนไทยจะได้ชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” เหนือฟ้าเมืองไทย ช่วงเวลาประมาณ 13.00-16.10 น. สังเกตได้ทั่วประเทศ และยังตรงกับ “วันครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่จะมีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด สำหรับประเทศไทย ในวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 05.51น.ตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้านานถึง 12 ชั่วโมง 56 นาที ส่งผลให้เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุด นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
นายศุภฤกษ์กล่าวอีกว่า สำหรับปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาบางส่วน” ในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี จะเป็นแบบวงแหวน คือ เงาของดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ แต่ในประเทศไทยจะพบเห็นได้ไม่เต็มดวง โดยคนไทยจะสังเกตเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนได้บางส่วนในช่วงเวลา 13.00-16.10 น. ดวงอาทิตย์จะเว้าแหว่งที่สุดในเวลา 14.49น. ในแต่ละจังหวัดเห็นได้ชัดต่างกัน ในภาคเหนือ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 63 เปอร์เซ็นต์ ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ภาคใต้ ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์ถูกบดบังมากที่สุด 40 เปอร์เซ็นต์ โดยแนวเกิดคราส “สุริยุปราคาวงแหวน” จะเริ่มจากสาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก และเอธิโอเปีย แล้วผ่านเอเชียตะวันตก คือ ประเทศเยเมนและโอมานแล้วผ่านทางใต้ของประเทศปากีสถานและทางเหนือของอินเดีย โดยจุดกลางคราสของสุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้อยู่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 38 วินาที เหนือเทือกเขาหิมาลัย ประเทศจีน ก่อนจะสิ้นสุดแนวคราสวงแหวนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศอื่นๆที่จะเห็นสุริยุปราคาเพียงบางส่วนคือประเทศยุโรปและทางเหนือของออสเตรเลีย รวมถึงประเทศไทย สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยคือ สุริยุปราคาบางส่วน จะต้องรออีก 7 ปี โดยจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ส.ค.2570
ส่วนวันครีษมายันนั้น หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ในระยะเวลา 1 ปี โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ได้แก่ วันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต วันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน ดังนั้น วันที่ 21 มิ.ย.นี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ทั้งสองในวันเดียวกัน คือ ชมสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทยในวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา รายงานว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคา (Solar Eclipse) ครั้งแรกของปีนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย. โดยดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวบดบังดวงอาทิตย์แบบเต็มดวง จนมีลักษณะเหมือนวงแหวนไฟมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาวโลกสามารถพบเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ชัดเจนที่สุดในทวีปแอฟริกาและเอเชียในช่วงเวลาเที่ยงวัน ขณะที่จุดรับชมสุริยุปราคาได้เด่นชัดที่สุดคือ เมืองโจชีมัธ รัฐอุต–ตราขัณฑ์ ทางภาคเหนือของอินเดีย ที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ถึง 99.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสุริยุปราคาครั้งที่สองของปีนี้ จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ธ.ค. แต่รับชมได้ชัดเจนเฉพาะภูมิภาคอเมริกาใต้เท่านั้น
ทั้งนี้ ในแต่ละปรากฏการณ์นั้น ต่างมีความเชื่อแต่โบราณแฝงอยู่ เช่น กรณีเกิดสุริยุปราคาจะเกี่ยวพันกับพระราหู พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ที่มักมองว่าหากเกิดราหูเข้าคราส หรือบดบังพระอาทิตย์หรือจันทร์ คือ “ลางร้าย” ดังนั้น ในหลายชนเผ่าโบราณจึงมักมีการทำพิธีกรรมต่างๆเพื่อสะเดาะเคราะห์ รวมถึงการตีเกราะเคาะไม้ ส่งเสียงดังเพื่อขับไล่ “ราหู” ให้ยอมคายดวงอาทิตย์ออกมา
เช่นเดียวกับความเชื่อเกี่ยวกับวันครีษมายัน ในกลุ่มชนเผ่าโบราณ ที่ยังมีความเชื่อสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันในคนบางกลุ่มที่เชื่อในพลังสุริยะ ก็จะพากันออกมารับแสงอาทิตย์อย่างคับคั่ง อาทิ ในอังกฤษ ที่จะมีคนบางกลุ่มแห่มารับพลังสุริยะที่กองหินสโตนเฮนจ์ ตามความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ยุคชาวดรูอิทโบราณหลายพันปี
ด้านพระครูวิริยธำรงค์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด พระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กทม. กล่าวว่า โดยทั่วๆไปตามแนวทางโหราศาสตร์แล้ว การที่คราสพาดผ่านประเทศใด โดยเฉพาะที่สามารถมองเห็นคราสนั้นได้ มักจะมีแนวโน้มในการเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ มากกว่าเรื่องดี เกือบจะทุกอารยธรรมของโลกต่างก็มีความเชื่อที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันว่าการเกิดสุริยุปราคาเป็นสัญญาณเตือนของ “ลางร้าย” ซึ่งเป็นผลมาจาก “สัตว์ร้าย” ตามความเชื่อว่ากำลังกัดกินดวงอาทิตย์ ในระหว่างการเกิดสุริยุปราคา ดวงอาทิตย์จากรูปทรงกลมจะค่อยๆ แหว่งคล้ายกำลังถูกกัด เมื่อดวงอาทิตย์หายไปมากขึ้น ความมืดก็ค่อยๆเข้ามาแทนที่ จนในที่สุดดวงอาทิตย์ก็ถูกกินหายไปทั้งดวงและความมืดมิดในที่สุดชนโบราณต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สัตว์ร้ายยอมคายดวงอาทิตย์ออกมา
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์กล่าวอีกว่า การเกิด “สุริยคราสเต็มดวง” ในครั้งนี้แม้ว่าคราสจะไม่พาดผ่านประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ต้องระมัดระวังเหตุร้าย ความรุนแรง ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กุมกันเกิดคราสในราศีเมถุนอุภัยราศีปลายธาตุลม ปรากฏการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นแบบข่าวต่างๆที่คลุมเครือปิดบังในเบื้องต้นของการเกิดขึ้น และบวกกับความประมาทในชีวิต สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้น่าจะมีผลมาจากอิทธิพลของพระราหู ซึ่งเป็นต้นเหตุของความมัวเมาลุ่มหลงกระจายปกคลุมไปอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลอย่างรวดเร็ว รุนแรง ก่อให้เกิดความยุ่งยาก ความวุ่นวาย เสียหายให้กับมวลชนในวงกว้าง เกิดความผันแปรที่สำคัญมากในทางการเมืองและการค้าเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมากมายมหาศาลเกินความคาดหมาย
สำหรับประเทศไทยนั้น พระครูวิริยธำรงค์ กล่าวว่า ประเทศเราคงโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากคราสมากนักเพราะเห็นเพียงบางส่วน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็กำลังคลี่คลายลงรวดเร็ว เพราะประเทศเรามีศาสนามีวัฒนธรรมเป็นที่ยึดเหนี่ยว ความมีสติ ปัญญาและความกล้าหาญ มีความเสียสละร่วมแรงร่วมใจกันเท่านั้น สถานการณ์ด้านร้ายๆก็จะผ่านพ้นไปได้ ความมืดมัวมัวเมาลุ่มหลงจากอิทธิพลพระราหูต้องใช้แสงสว่าง ความสว่างของสติปัญญาเท่านั้นที่จะปัดเป่าความมืดมัว มัวเมาออกไปได้
ที่มาข่าว ไทยรัฐ

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า