วันเป็งปุ๊ดหรือ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน ประเพณีเก่าแก่ตามความเชื่อของชาวล้านนาดั้งเดิมมาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว เป็นวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นการผสมผสานระหว่างขนบธรรมเนียมของไทยลื้อ ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่า และไทยลื้อจีนใต้ ผนวกกับวัฒนธรรมชาวไทยใหญ่ ในรัฐฉานของพม่า จึงทำให้กลายเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีการของวันนี้คือ ในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ เป็นวันที่ประชาชนจะจัดเตรียมอาหารแห้งไปทำบุญที่วัดเวลาหลังเทียงคืนของวันอังคาร คือ 0.00 นาฬิกาของวันพุธ เพื่อให้พระสงฆ์ ออกรับบาตร ซึ่งถือเป็นการระลึกถึงพระมหาอุปคุต ซึ่งบางปีอาจมีหลายวัน แต่ต้องตรง วันเพ็ญ วันพุธ

เป็งพุธ หรือ เป็งปุ๊ด ทางล้านนาจะออกเสียง พ.พาน เป็น ป.ปลา จึงเรียกว่า เป็งปุ๊ด คำว่า เป็ง มีความหมายถึงพระจันทร์เต็มดวง เดือนเพ็ญ เพ็ญพโยม ดวงแข ศศิธร หรือวันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันศีลหรือวันพระ วันเดือน ปีใดที่วันขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันพุธ นั่นคือ วันเป็งปุ๊ด

ชาวพุทธเชื่อกันว่าจะมีพระอรหันต์ที่ชื่อพระอุปคุต ออกมาบิณฑบาตรโปรดสัตว์ เมื่อเริ่มเข้าเวลาของวันพุธ คือตั้งแต่เวลา 00.00 น. ไปจนถึงก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ผู้คนจะพากันใส่บาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ใดที่ได้ใส่บาตรท่านจะได้บุญและโชคดีสูงสุด เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พระมหาอุปคุตเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีมหาอิทธิฤทธิ์ สามารถ ดลบันดาลโชคลาภวาสนา ได้ออกจากการเข้าฌานสมาบัติใต้สะดือทะเล แล้วแปลงกายเป็น สามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์โลก หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระมหาอุปคุต บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีบุญ จะมีโชคลาภวาสนาร่ำรวย และบังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

การบิณฑบาตรนี้จะเป็นเฉพาะสามเณรเท่านั้น ไม่มีพระภิกษุสงฆ์ เพราะสามเณรได้รับการอุปโหลกเป็นตัวแทนพระอุปคุต คำว่า อุป ปะ มาจากอุปถัมภ์ อุปถาก อุปการะ หมายถึง การช่วยเหลือ เกื้อกูล ค้ำจุน คำว่า คุต อ่านว่า คุต ตะ มาจากความคุ้มครอง การรักษาคติความเชื่อของชาวบ้านถือว่าพระอุปคุต บำเพ็ญตนอยู่ในเกษียณสมุทร เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีอิทธิฤทธิ์ปราบภัยมาร และป้องกันมิให้สิ่งชั่วร้ายมากล้ำกรายได้ ช่วยบันดาลให้สิ่งที่เลวร้ายได้บรรเทาเบาลง นอกจากนี้ยังมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องเรือง

วิชาอีกด้วย ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่า ครั้งหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระบัญชาให้พระอุปคุตคอยดูแลสอดส่องชาวโลก อย่าให้ภัยมารมารบกวนได้ เมื่อถึงเวลาวันเป็งปุ๊ด พระอุปคุตจึงออกมาโปรดและปราบภัยมารต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีคืนวันพุธราหูเข้ามาเกี่ยวข้องอีก จึงเพิ่มความขลังขึ้นมาให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ที่มา chiangmainews

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า